มุ่งมั่นให้บริการ ผสานการมีส่วนร่วมของชุมชน เน้นคนเป็นศูนย์กลาง มุ่งสู่ความเป็นมาตรฐานศุนย์สุขภาพชุมชนอย่างยั่งยืน

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

สถานการณ์โรคไข้เลือดออก สคร.๔ ราชบุรี

ขณะนี้การระบาดของโรคไข้เลือดออกยังคงมีอย่างต่อเนื่องในทั่วทุกภาคของประเทศไทย จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่1 มกราคม ถึง 30 สิงหาคม 2558 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 59,432 ราย เสียชีวิต 45 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คืออายุ 15-24 ปี, อายุ 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นในกลุ่มนักเรียน 45.8 % โดยพบว่าจังหวัดที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุดในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม - 15 สิงหาคม 2558) 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.ระยอง 2.เพชรบุรี 3.อุทัยธานี 4.แพร่ 5.กระบี่ 6.ราชบุรี 7.แม่ฮ่องสอน 8.จันทบุรี 9.อุบลราชธานี 10.อ่างทอง ซึ่งจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของปีนี้เพียงแค่ 8 เดือน พบผู้ป่วยและเสียชีวิตมากกว่าปี 2557 ตลอดทั้งปี (ปี 2557 : ผู้ป่วย 40,278 ราย / เสียชีวิต 41 ราย)
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค โดยหน่วยงานในพื้นที่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค /ศูนย์โรคติดต่อนำโดยแมลง ภาคีเครือข่ายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ประเมินความหนาแน่นของลูกน้ำยุงลาย รวมทีมเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เข้าสืบสวนโรคสอบสวนโรคและควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว รวมถึงการติดตามกำกับของงานในวอร์รูมทุกสัปดาห์ เพื่อเร่งรัดแก้ปัญหาให้ทันท่วงที อย่างไรก็ตามประชาชนทุกท่านต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัดให้มากที่สุดโดยเฉพาะยุงลายซึ่งกัดในเวลากลางวันเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อยุงลายกัดกินเลือดแล้ว มักจะไปเกาะพักตามมุมอับชื้นในบ้าน เช่นห้องน้ำ มุมห้องนอนที่มีเสื้อผ้าใส่แล้วแขวนอยู่ เป็นต้น หากจะกำจัดยุงลายตัวแก่ต้องฉีดสเปรย์ หรือใช้ไม้ไฟฟ้ช็อตยุงให้ถูกที่ รวมถึงต้องป้องกันตนเองและคนในครอบครัวโดยการไม่ให้ยุงเกิด ด้วยการ 1.เก็บ/ปิดน้ำภาชนะใส่น้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายวางไข่ ก่อนเก็บน้ำกินน้ำใช้ในถังใส่น้ำควรขัดล้างไข่ยุงลายออกจากผนังทิ้งเสียก่อน 2.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เพราะยุงลาย บินไม่ไกล ส่วนใหญ่จึงอาศัยอยู่ในบ้านและรอบๆ บ้านเราเอง 3.เก็บขยะ ทำ 5 ส. ไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ยุงลายเป็นยุงสะอาด เพาะพันธุ์ในภาชนะใส่นำใส นิ่ง อยู่ในบ้านประชาชนจึงต้องทำเองจึงจะสัมฤทธิผลดี
ทั้งนี้ หากมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าที่ทุกฝ่ายปิดล้อมกำจัดยุงลายตัวที่มีเชื้ออย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้ไปกัดและแพร่เชื้อให้คนอื่นด้วย ผู้ป่วยเองก็ต้องป้องกันไม่ให้โรคไปติดต่อคนรอบข้างคนอื่นๆ ด้วยการนอนในมุ้งหรือทายากันยุง ทั้งขณะอยู่พักฟื้นที่บ้านหรือรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งโรคไข้เลือดออกนี้เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สำหรับอาการเฉพาะโรคไข้เลือดออกคือ ไข้สูง ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีเลือดกำเดา มีจุดแดงใต้ผิวหนังหลังป่วยในวันที่ 2-3 อาการเริ่มต้นโดยทั่วไปคล้ายไข้หวัด แต่ไข้จะสูงอย่างกะทันหัน และกินยาลดไข้เมื่อหมดฤทธิ์ยาก็กลับมาไข้ได้อีก และต่างจากไข้หวัดใหญ่คือมักไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ เว้นแต่จะเป็นทั้ง 2 โรคในเวลาเดียวกัน
ด้านการรักษา โรคไข้เลือดออกนี้ยังไม่มีวัคซีน และยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ต้องรักษาตามอาการจากการวินิจฉัยของแพทย์ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานมากำจัดเชื้อโรคในตัวออกไป ยิ่งเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง เช่น อ้วน มีประจำเดือน เป็นโรคเลือด จะต้องพิจารณาให้สารน้ำ/น้ำเกลืออย่างเหมาะสม ฉะนั้นเมื่อเป็นไข้สูง อย่าซื้อยามากินเอง เพราะมียาบางชนิดที่เป็นอันตรายสำหรับการเป็นโรคไข้เลือดออก ทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น หากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก หลังการดูแลรักษาแล้ว 3-4 วัน อาการไม่ดีขึ้น โดยมีอาการซึม เบื่ออาหาร กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา กระหายน้ำ ปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด แสดงว่าช็อกจากโรคไข้เลือดออก ต้องรีบกลับไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากช้าอาจทำให้ขั้นตอนรักษายุ่งยากและเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
    เครดิตข้อมูลจาก >>>https://th-th.facebook.com/dpc4.ddc/posts/963641553698648:0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น